รับข้อเสนอสุดพิเศษ!

ภ.ง.ด.2 คืออะไร มีไว้ทำอะไร?

ภ.ง.ด.2 คืออะไร มีไว้ทำอะไร? มาไขข้อข้องใจเรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

Table of Contents

ภาษี… คำพูดสั้นๆ ที่ชวนให้หลายคนกุมขมับ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซับซ้อน และสำคัญที่ต้องทำให้ถูกต้อง 

คำถามคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องทำอย่างไรบ้าง? หนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยไขข้อข้องใจเรื่องภาษี นั่นก็คือ “แบบแสดงรายการภาษี” หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อๆ ว่า “ภ.ง.ด.” นั่นเอง และหนึ่งในแบบ ภ.ง.ด. ที่สำคัญมากๆ ก็คือ ภ.ง.ด.2

แล้ว ภ.ง.ด.2 คืออะไร? มีไว้ทำอะไร? ผู้ใดมีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย? และมีวิธีวิธีคำนวณหักภาษีเงินได้ณ ที่จ่ายอย่างไร? ชอบการบัญชีขอนำบทความนี้จะพาคุณไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับ ภ.ง.ด.2 อย่างละเอียด เข้าใจง่าย พร้อมทั้งแนะนำวิธีการเตรียมตัวก่อนยื่นภาษี มาฝากกันค่ะ

ภ.ง.ด.2 คืออะไร? ผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่ายคือใคร?

ภ.ง.ด.2 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่นิติบุคคล (บริษัท ห้างหุ้นส่วน สมาคม มูลนิธิ ฯลฯ) ต้องยื่นต่อกรมสรรพากร กรณีมีการจ่ายเงินได้ประเภท 40(3) และ 40(4) ให้แก่บุคคลอื่นและชำระภาษีภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

ตัวอย่างการคำนวณ ภ.ง.ด.2

หากบริษัทมีการจ่ายเงินปันผลให้แก่นาย A ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทจำนวน 100,000 บาท บริษัทก็จะต้องหัก ณ ที่จ่าย 10% ตามกฎหมายสำหรับเงินปันผลจ่าย ดังนั้น ทางบริษัทจึงต้องจ่ายเงินให้นาย A เพียง 90,000 บาท ส่วนที่เหลือ 10% จำนวน 10,000 บาทนั้นจะถูกหักไว้ และนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป

เงินได้ประเภท 40(3) และ 40(4) คืออะไร?

เงินได้ประเภท 40(3) หมายถึง เงินได้พึงประเมินที่ได้มาในรูปแบบของ

  • ค่าลิขสิทธิ์: ค่าตอบแทนที่ได้รับจากการอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ในงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น เพลง หนังสือ ภาพยนตร์
  • ค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญา: ค่าตอบแทนที่ได้รับจากการถ่ายทอดกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา เช่น สิ่งประดิษฐ์ เครื่องหมายการค้า
  • ค่า Goodwill: ค่าตอบแทนที่ได้รับจากการซื้อกิจการ โดยมูลค่าเกินกว่ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่แสดงในงบดุล

เงินได้ประเภท 40(4) หมายถึง เงินได้พึงประเมินที่ได้มาในรูปแบบของ

  • ดอกเบี้ยเงินฝาก: ดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินฝากธนาคาร สหกรณ์ หรือสถาบันการเงินอื่นๆ
  • ดอกเบี้ยพันธบัตร: ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในพันธบัตร
  • ดอกเบี้ยตั๋วเงิน: ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการถือครองตั๋วเงิน
  • เงินปันผล: เงินที่บริษัทจ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นจากผลกำไร
  • เงินส่วนแบ่งกำไร: เงินที่ห้างหุ้นส่วนจ่ายให้แก่หุ้นส่วนจากผลกำไร

วิธีคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย

ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ทุกคราวที่จ่าย (โดยไม่ให้หักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน) ตามอัตราภาษีเงินได้เว้นแต่

  1. เงินได้ดังต่อไปนี้ ให้คำนวณหักในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินได้

(1) การจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา40(3) (4) ดังกล่าวที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

(2) ดอกเบี้ยพันธบัตร

(3) ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์สำหรับเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรซึ่งผู้มีเงินได้ได้รับรวมกันทั้งสิ้น เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น (ต้องหัก ณ ที่จ่ายจากดอกเบี้ยรับทั้งสิ้น) ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทประจำสำหรับเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรและสหกรณ์

(4) ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน0ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่น ดอกเบี้ยที่ได้จากสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม เช่น บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

(5) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วน หรือโอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

(6) ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก โดยให้ถือว่าผู้ออกตั๋วเงิน ผู้ออกตราสารแสดงสิทธิในหนี้หรือนิติบุคคลผู้โอนตั๋วเงินหรือตราสารดังกล่าว เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมิน กรณีผู้จ่ายเงินได้มิใช่เป็นนิติบุคคล และจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ก) ที่มิใช่เงินได้ตามที่ระบุใน (2) ถึง (6) ดังกล่าว ข้างต้น ให้กับผู้รับซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันถึง 180 วันในปีภาษี) ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

  1. เงินได้ที่เป็นเงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร หรือประโยชน์อื่นใดฯ ตามมาตรา 40(4) (ข) ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินได้

ช่องทางการยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 มีอะไรบ้าง?

ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 แสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายได้สะดวก รวดเร็ว ตรงต่อเวลา ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

1. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 ผ่านอินเทอร์เน็ต

  • สะดวก รวดเร็ว ยื่นได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/
  • รองรับทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
  • กรณีเป็นนิติบุคคล ต้องสมัครใช้บริการ e-Filing for Business เพิ่มเติม
  • รองรับการชำระภาษีผ่านระบบ PromptPay

2. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.2 ได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ

วิธีการกรอกเอกสาร ภ.ง.ด.2

ตามที่ได้กล่าวข้างต้น ภ.ง.ด. 2 เป็นแบบนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้ประเภท 40(3) และ 40(4) ซึ่งมีวิธีการในการกรอกแบบดังต่อไปนี้

แบบ ภ.ง.ด. 2 หน้าที่ 1

ส่วนที่ 1 : ให้กรอกเลขผู้เสียภาษี รายละเอียดชื่อ ที่อยู่ของบริษัท เดือน ปีภาษีที่ยื่นแบบ และให้คลิกว่าเป็นการยื่นแบบปกติ หรือยื่นแบบเพิ่มเติม

ส่วนที่ 2 : ให้คลิกใบแนบของ ภงด 2 ที่ยื่นนั้นมีจำนวนกี่แผ่น

ส่วนที่ 3 : ให้เขียนรายละเอียด จำนวนราย จำนวนเงินได้ที่จ่ายทั้งสิ้น และจำนวนเงินภาษีที่นำส่งทั้งสิ้น

ส่วนที่ 4 : ให้เซ็นโดยผู้นำรับผิดชอบนำส่งหัก ณ ที่จ่าย

แบบ ภ.ง.ด. 2 หน้าที่ 2

ส่วนที่ 1 : ให้กรอกรายละเอียดเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และให้ติ๊กว่าเงินได้ที่จ่ายเป็นเงินได้ประเภทใด ดังนี้

  • เงินได้ตามมาตรา 40(3) ค่าแห่งลิขสิทธิ์ ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ และอื่นๆ
  • เงินได้ตามมาตรา 40(4)ก ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยตั๋วเงิน และอื่นๆ
  • เงินได้ตามมาตรา 40(4)ข เงินปันผล และอื่นๆ
  • เงินได้ตามมาตรา 40(4)ช เงินผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น และอื่นๆ

ส่วนที่ 2 : ให้กรอกรายละเอียดผู้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย โดยให้กรอกเลขผู้เสียภาษี ชื่อ-นามสกุล ผู้ถูกหัก ณ ที่จ่าย วันเดือนปีที่จ่าย จำนวนเงินที่จ่าย จำนวนเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย

ส่วนที่ 3 : ให้เซ็นโดยผู้นำรับผิดชอบนำส่งหัก ณ ที่จ่าย

สามารถดาวน์โหลดแบบ ภ.ง.ด. 2 ได้ที่ : กรมสรรพากร

กรณีไม่ยื่น ภ.ง.ด.2 ตามกำหนด จะมีโทษปรับอะไรบ้าง?

1.ถ้าผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายมิได้หักและนำเงินส่งหรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่งหรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณี

ในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีไว้แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่ต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระเงินภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว (มาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร)

2.ถ้าผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่นำเงินภาษีที่ตนมีหน้าที่หักนำส่งภายในกำหนดเวลา จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำส่ง ทั้งนี้ ให้คำนวณเงินเพิ่มเป็นรายเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบฯ จนถึงวันยื่นแบบฯ และนำส่งภาษี (มาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร) ถ้าผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ยื่นแบบฯ ภายในกำหนดเวลา เว้นแต่จะแสดงว่าได้มีเหตุสุดวิสัย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท (มาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร)

3.ผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 37 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร) 

สรุปแล้ว ภ.ง.ด.2 เป็นแบบแสดงรายการที่ช่วยให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ “นิติบุคคล” สามารถปฏิบัติตามกฎหมายภาษีได้อย่างถูกต้อง

ถึงแม้ภาษีจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ ภ.ง.ด.2 ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจ ขอเพียงศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วน เตรียมเอกสารให้พร้อม และยื่นแบบแสดงรายการภาษีให้ตรงตามเวลาที่กำหนด ก็สามารถปฏิบัติได้ถูกต้อง หลีกเลี่ยงปัญหาภาษีในอนาคต ที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจเรื่องภาษี ช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่นอย่างแน่นอน

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถศึกษาได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร หรือติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่โดยตรง

อ้างอิง : กรมสรรพากร