รับข้อเสนอสุดพิเศษ!

รูปภาพแสดงให้เห็นมือของหญิงสาวกำลังใช้เครื่องคิดเลขสำหรับงานบัญชี

รู้จักกับ ภ.ง.ด.51 คืออะไร? ควรยื่นตอนไหน? ยื่นอย่างไรไม่ให้ถูกปรับ

Table of Contents

รู้หรือไม่ว่า นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีที่บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องยื่นแล้ว ยังมีภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ที่ต้องยื่นด้วยนะ! บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ ภ.ง.ด. 51 อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นใครมีหน้าที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 51 บ้าง? ยื่นเมื่อไหร่? และมีเทคนิคในการยื่นอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกค่าปรับ? ตามมาหาคำตอบพร้อมกันได้เลย

ภ.ง.ด.51 คืออะไร?

ภ.ง.ด.51 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (6 เดือน) ใช้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในการยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี โดยคำนวณจากกำไรสุทธิในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี และจะ+มีการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีอีกครั้งเมื่อสิ้นปีบัญชี โดยใช้แบบ ภ.ง.ด. 50

ความสำคัญของ ภ.ง.ด.51 

การยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 มีความสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูลทางการเงินของนิติบุคคลแก่กรมสรรพากร เพื่อให้สามารถตรวจสอบและประเมินภาษีที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ การกรอกและยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 อย่างถูกต้องและครบถ้วนยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการตรวจสอบจากกรมสรรพากร และสร้างความเชื่อถือในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีให้แก่นิติบุคคลด้วย

ผู้ใดบ้างมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ?

ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ได้แก่

  1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องจัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
  2. บริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เสียภาษีจากกำไรสุทธิ(ขาดทุนสุทธิ) จริงในครึ่งปีแรก

หมายเหตุ: บริษัทที่จดทะเบียนใหม่ในปีปัจจุบัน ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 51 เนื่องจากรอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน

ควรยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ตอนไหน?

กำหนดยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 ขึ้นอยู่กับรอบบัญชีของนิติบุคคล ดังนี้

  1. รอบบัญชีปกติ (เริ่ม 1 มกราคม สิ้นสุด 31 ธันวาคม)
    • ยื่นแบบฯ ผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร
      • ครึ่งปีแรก ภายใน 2 เดือน 8 วัน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี กำหนด: ภายในวันที่ 8 กันยายน ของปีถัดไป
      • ครึ่งปีหลัง ภายใน 2 เดือน 8 วัน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี กำหนด: ภายในวันที่ 8 มีนาคม ของปีถัดไป
    • ยื่นแบบฯ ด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่
      • ครึ่งปีแรก ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี กำหนด: ภายในวันที่ 31 สิงหาคม ของปีถัดไป
      • ครึ่งปีหลัง ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี กำหนด: ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป
  2. รอบบัญชีพิเศษ (เริ่มวันที่ 1 ของเดือนใดเดือนหนึ่ง สิ้นสุดวันที่ 30 หรือ 31 ของเดือนถัดไป)
    • ยื่นแบบฯ ผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร ภายใน 2 เดือน 8 วัน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
    • ยื่นแบบฯ ด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

หมายเหตุ

  • กรณีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถขยายระยะเวลายื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพิ่มเติม 15 วัน
  • กรณีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
    • ยื่นแบบฯ ผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร ภายใน 2 เดือน 23 วัน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
    • ยื่นแบบฯ ด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ภายใน 2 เดือน 15 วัน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

คำนวณภาษี ภ.ง.ด. 51

การคำนวณภาษีเงินได้สำหรับยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 มี 2 วิธี ดังนี้

  1. กึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี ใช้กับบริษัททั่วไป เช่น กิจการซื้อมาขายไป กิจการผลิต กิจการบริการ
  2. กำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือนแรก ใช้กับบริษัทดังต่อไปนี้
    • บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (ไม่ต้องแนบงบแสดงฐานะการเงิน และหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย)
    • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ต้องแนบงบแสดงฐานะการเงิน และหนังสือรับรองของผู้สอบบัญชี)

ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ล่าช้ากว่ากำหนดจะโดนโทษอย่างไรบ้าง?

กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เกินกำหนดระยะเวลา จะต้องรับผิดดังนี้

  1. ค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด
  2. กรณีมีภาษีต้องชำระ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ ทั้งนี้หากเป็นกรณีที่ผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบโดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพิ่ม ให้เสียอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ แต่ไม่เกินเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด

ข้อควรระวังในการยื่น ภ.ง.ด. 51 กรณีกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25

หากยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิ ขาดเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุผลอันควร จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของภาษีที่ชำระไว้ขาด หากบริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ โดยไม่ได้รับ คำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวน โดยตรงเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพิ่มได้ แต่ต้องเสียในอัตราและตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(ก) ถ้าชำระภายใน 2 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.10 ของเงินภาษี ที่ต้องชำระ

(ข) ถ้าชำระภายหลัง 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.50 ของเงินภาษีที่ต้องชำระ

วิธีการคำนวณประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25

ให้นำกำไรสุทธิจริง ลบด้วยประมาณการกำไรสุทธิได้เท่าไร นำผลลัพธ์คูณด้วย 100 หารด้วยกำไรสุทธิจริง มีดังนี้

ตัวอย่าง บริษัทประมาณการกำไรสุทธิไว้ 70,000 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 5,000 บาท

แต่กำไรสุทธิที่บริษัทยื่นรายการตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 และชำระภาษีเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี 100,000 บาท ประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทขาดเกินกว่าร้อยละ 25 หรือไม่

วิธีการคำนวณ

กำไรสุทธิจริง 100,000 แต่ ประมาณการกำไรสุทธิ 70,000 = ประมาณการขาด 30,000

กำไรสุทธิ 100 ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป = 30,000*100/100,000= 30

ดังนั้น ถือว่าประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25

ถึงตรงนี้ หลายคนคงเข้าใจเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) มากขึ้นแล้ว หลักสำคัญคือต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทของคุณเข้าข่ายต้องยื่นหรือไม่ และต้องยื่นภายในกำหนดเวลาที่กำหนด  

อย่าลืมว่า การคำนวณภาษีอย่างรอบคอบ รวมถึงการประมาณการกำไรสุทธิให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง และทำให้บริษัทไม่ต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่มโดยใช่เหตุ 

สุดท้ายนี้ ขอแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมสรรพากรโดยตรง เพื่อความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้การยื่นภาษีของบริษัทเป็นไปอย่างราบรื่นและถูกต้องตามกฎหมาย

แหล่งข้อมูล : กรมสรรพากร