รับข้อเสนอสุดพิเศษ!

ภ.ง.ด.1 คืออะไร? ทำความรู้จักกับภาษีเงินได้แบบเข้าใจง่าย

ภ.ง.ด.1

ในชีวิตประจำวัน เราต่างต้องพบเจอกับ “ภาษี” ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่รวมอยู่ในราคาสินค้า และภาษีสรรพสามิตที่บวกเพิ่มในสินค้าบางประเภท หรือแม้แต่ภาษีเงินได้ที่ถูกหักไว้จากเงินเดือน 

แล้วภาษีคืออะไรล่ะ? พูดง่ายๆก็คือ ภาษี คือ เงินที่ประชาชนจ่ายให้กับรัฐ เพื่อนำไปใช้พัฒนาประเทศ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค การศึกษา สาธารณสุข และอื่นๆ อีกมากมาย

ทีนี้ พอพูดถึง “ภาษีเงินได้” หลายคนอาจจะนึกถึงเอกสารมากมาย ที่ดูซับซ้อน เข้าใจยาก หนึ่งในนั้นก็คือ “แบบแสดงรายการภาษี” หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า “แบบ ภ.ง.ด.” ซึ่งจริงๆ แล้ว แบบ ภ.ง.ด. มีอยู่หลายแบบ แยกตามลักษณะของรายได้และผู้ยื่นภาษี

หนึ่งในแบบแสดงรายการภาษีที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือ ภ.ง.ด.1 ซึ่งเป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ใช้สำหรับยื่นภาษีของ มนุษย์เงินเดือน หรือ พนักงานประจำในบริษัท ที่มีรายได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง 

ดังนั้น ในบทความนี้ เราจะพาไปทำความรู้จักกับ ภ.ง.ด.1 อย่างละเอียดแบบง่าย ๆ 

ภ.ง.ด.1 คืออะไร? ใช้ยื่นภาษีสำหรับใครบ้าง?

ภ.ง.ด. 1 หรือ “แบบแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย” เป็นเอกสารที่บริษัทหรือหน่วยงานจะต้องกรอกเพื่อรายงานการหักภาษีจากรายได้ของพนักงานหรือผู้มีรายได้ตามมาตรา 40 ซึ่งครอบคลุมทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทนต่างๆ จากการทำงานประจำ เช่น โบนัส ค่าล่วงเวลา เบี้ยเลี้ยง 

(ตามประเภทเงินได้ 40(1)) รวมไปถึงรายได้ของผู้ที่ไม่ได้เป็นพนักงานประจำ เช่น ค่าจ้างทั่วไป ค่าคอมมิชชั่น ค่าเบี้ยประชุม 

(ตามประเภทเงินได้ 40(2)) โดยแสดงรายละเอียดภาษีที่ถูกหักไว้แล้ว ณ ที่จ่าย ให้แก่กรมสรรพากร

สรุปก็คือ แบบแสดงนี้ เป็นแบบยื่นแสดงรายการภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีผู้จ่ายเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคมหรือคณะบุคคล ที่จ่ายเงินได้ประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า เป็นต้น ให้แก่ผู้เสียภาษีเงินได้ที่เป็นบุคคลธรรมดา โดยผู้จ่ายเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงิน

ภ.ง.ด.1 มีไว้ทำอะไร? ยื่นเมื่อไหร่?

หลายคนอาจสงสัยว่า การยื่น ภ.ง.ด.1 นั้น มีไว้เพื่ออะไรกันแน่? จริงๆ แล้ว ภ.ง.ด.1 เป็นเสมือนการรายงานตัว และเคลียร์ภาษีกับกรมสรรพากรประจำปี เปรียบเหมือนการเช็คสุขภาพการเงินประจำปีของเรานั่นเอง

วัตถุประสงค์หลักของการยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 ก็คือ เพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยเราจะต้องนำรายได้ทั้งหมดที่ได้รับตลอดทั้งปีภาษี รวมถึงข้อมูลการหักลดหย่อนต่างๆ มาคำนวณ เพื่อดูว่าสุดท้ายแล้ว เราต้องจ่ายภาษีเพิ่ม หรือขอคืนภาษี

กำหนดการยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 คือ ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี (ยกเว้นกรณียื่นแบบผ่านอินเทอร์เน็ต จะสามารถยื่นได้ถึงวันที่ 8 เมษายน) หากยื่นแบบหลังจากวันดังกล่าว จะถือว่ายื่นล่าช้า และอาจต้องเสียค่าปรับได้

ช่องทางการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 1 มี 2 ช่องทางหลักๆ คือ

  1. ยื่นผ่านอินเทอร์เน็ต เป็นวิธีที่สะดวก รวดเร็ว และลดข้อผิดพลาด โดยสามารถยื่นได้ผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากร (www.rd.go.th)
  2. ยื่นด้วยตนเอง สามารถยื่นได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่ท่านสะดวก หรือ สาขาที่ท่านมีเงินได้ โดยสามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 1 ได้จากเว็บไซต์กรมสรรพากรเช่นกัน

เตรียมตัวยื่น ภ.ง.ด.1 ต้องมีเอกสารอะไรบ้าง?

ก่อนที่เราจะเริ่มกรอกแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 1 สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ “เอกสารประกอบการยื่นภาษี” ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ยืนยันรายได้ และการหักลดหย่อนต่างๆ โดยเอกสารหลักๆ ที่เราต้องเตรียม มีดังนี้

1. เอกสารยืนยันตัวตน (บัตรประจำตัวประชาชน, สำเนาทะเบียนบ้าน(ถ้ามี))

2. เอกสารแสดงรายได้

  • หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (แบบ 50 ทวิ) ออกให้โดยบริษัทหรือนายจ้าง โดยจะระบุรายละเอียดเงินเดือน ค่าจ้าง โบนัส และภาษีที่ถูกหักไว้แล้วตลอดทั้งปีภาษี
  • เอกสารแสดงรายได้อื่นๆ (ถ้ามี) เช่น
    • หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินฝาก (แบบ 50 ทวิ)
    • หนังสือรับรองการจ่ายเงินปันผล (แบบ 50 ทวิ)
    • เอกสารแสดงรายได้จากการขายทรัพย์สิน เป็นต้น

3. เอกสารประกอบการลดหย่อนภาษี

เอกสารส่วนนี้ จะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเรามีสิทธิลดหย่อนอะไรบ้าง โดยสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่หลักๆ ได้ดังนี้

  • ลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
    • สูติบัตรบุตร (กรณีใช้สิทธิลดหย่อนบุตร)
    • ทะเบียนสมรส (กรณีใช้สิทธิลดหย่อนคู่สมรส)
    • ใบรับรองแพทย์ (กรณีใช้สิทธิลดหย่อนบิดา มารดา ที่มีรายได้ไม่เกินเกณฑ์)
  • ลดหย่อนจากการประกัน
    • กรมธรรม์ประกันชีวิต
    • กรมธรรม์ประกันสุขภาพ
    • ใบรับรองเบี้ยประกัน
  • ลดหย่อนจากกองทุนต่างๆ
    • หนังสือรับรองการลงทุนในกองทุน RMF
    • หนังสือรับรองการลงทุนในกองทุน SSF
    • ใบแจ้งยอดเงินสะสมกองกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
  • ลดหย่อนอื่นๆ เช่น
    • ใบเสร็จรับเงินบริจาค
    • หนังสือแสดงสิทธิในทรัพย์สิน (กรณีซื้อบ้านหรือคอนโด)

หากยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 เกินกำหนดเวลา จะโดนโทษอะไรบ้าง?

ถ้าผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย มิได้หักและนำส่ง หรือได้หักและนำเงินส่งแล้วแต่ไม่ครบจำนวนที่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ในการเสียภาษีที่ต้องชำระตามจำนวนเงินภาษีที่มิได้หักและนำส่ง หรือตามจำนวนที่ขาดไป แล้วแต่กรณีในกรณีที่ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีไว้แล้ว ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งต้องเสียภาษีพ้นความรับผิดที่ต้องชำระเงินภาษีเท่าจำนวนที่ผู้จ่ายเงินได้หักไว้ และให้ผู้จ่ายเงินรับผิดชำระภาษีจำนวนนั้นแต่ฝ่ายเดียว (มาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร)

ถ้าผู้จ่ายเงินซึ่งมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ไม่นำเงินภาษีส่งภายในกำหนดเวลาตามกำหนด. จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องนำส่ง ทั้งนี้ ให้คำนวณเงินเพิ่มเป็นรายเดือน (เศษของเดือน ให้นับเป็น 1 เดือน) นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบฯ จนถึงวันยื่นแบบฯ และนำส่งภาษี (มาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร)

ถ้าผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ยื่นแบบฯ ภายในกำหนดเวลาตามกำหนด เว้นแต่จะแสดงว่าได้มีเหตุสุดวิสัย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท (มาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร)

ผู้ใดโดยเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 37 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร)

ข้อสรุป ภ.ง.ด.1 ไม่ยากอย่างที่คิด เตรียมตัวให้พร้อมยื่นให้ตรงเวลา

บทความนี้ได้พาทุกท่านไปทำความรู้จักกับแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.1 ตั้งแต่ความหมาย ความสำคัญ เอกสารที่ต้องเตรียม รวมถึงบทลงโทษหากยื่นไม่ทันกำหนด เพื่อให้สามารถยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง มั่นใจ และไม่พลาดสิทธิประโยชน์ที่สำคัญ

แม้การยื่นภาษีจะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่หากเราเตรียมตัวศึกษาข้อมูลให้ดี จัดเตรียมเอกสารให้พร้อม และยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนด ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่าน หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถแสดงความคิดเห็น หรือสอบถามเข้ามาที่ ชอบการบัญชี ได้เลยนะคะ

อ้างอิง : กรมสรรพากร

ภ.ง.ด. 54 คืออะไร? ใครต้องยื่นบ้าง? พร้อมช่องทางการยื่นภาษี

ภาพมือของนักบัญชีกำลังตรวจสอบรายงานทางการเงิน บนโต๊ะทำงาน ภ.ง.ด.54

ภ.ง.ด. 54 ที่หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยิน หรือ คุ้นหู คืออะไร ? ใครเป็นผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ? คำนวณแบบไหน? ยื่นช่องทางใดบ้าง? และเกี่ยวอะไรกับ การซื้อ/ขาย/เช่า ? วันนี้ชอบการบัญชีมาไขคำตอบนี้ให้กับคุณ

ภ.ง.ด.54 คืออะไร?

ตามทางกฎหมายของ ภ.ง.ด.54 คือ “การนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและการจำหน่ายเงินกำไร ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร ในมาตรา 70 และ 70 ทวิ” 

หรือให้เข้าใจง่ายที่สุดคือ  แบบยื่นแจ้งการหักภาษี ณ ที่จ่าย ของนิติบุคคลที่ตั้งตามกฎหมายของต่างประเทศ และไม่ได้ประกอบกิจการธุรกิจในไทย แต่มีการรับรายได้พึงประเมินมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ซึ่งจ่ายในประเทศไทย โดยผู้หักภาษีทำการหักจากเงินได้ที่จ่ายออกไป

หากอธิบายแบบที่เข้าใจได้ง่าย ผู้ประกอบการที่อยู่ภายในประเทศไทย และมีการซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากนิติบุคคล ที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ เมื่อถึงวันที่คุณจะต้องจ่ายเงินให้กับทางบริษัทที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งให้กับทางกรมสรรพากรไม่เกิน 7 วัน นับจากวันสิ้นเดือน

โดยในแบบ ภ.ง.ด.54 จะระบุถึงภาษีเงินได้ ‘หัก ณ ที่จ่าย’ สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40 ประเภท 2 ถึง 6 หรือการจำหน่ายกำไร ให้กับนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ โดยอัตราในการนำส่งจะอยู่ที่ 10% และ 15% ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้

การหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับแบบ ภ.ง.ด.54 จะมีอัตราภาษีที่ได้ระบุเอาไว้ ตามประเภทของเงินได้ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

  1. มาตรา 40 ประเภทที่ 2 ถึง 6 มีอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายอยู่ที่ 15%
  2. มาตรา 40 ประเภทที่ 4 (เงินปันผล) มีอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายอยู่ที่ 10%

ใครเป็นผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ?

ผู้ที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 เป็นนิติบุคคลที่อยู่ภายในประเทศไทย และต้องตรวจสอบก่อนว่า มีการจ่ายเงินตามมาตรา 70 ที่ระบุถึง เงินได้พึงประเมิน มาตรา 40 ประเภทที่ 2 ถึง 6 ตามที่กฎหมายได้กำหนดเอาไว้หรือไม่ หากเป็นเงินได้นอกเหนือจากประเภทนี้ คุณก็ไม่ต้องยื่นแบบ  ภ.ง.ด.54

  • มาตรา 40 ประเภทที่ 2 เงินได้จากหน้าที่หรือตำแหน่งที่ทำ ถือว่าเป็นการจ้างแบบชั่วคราว เช่น ค่านายหน้า หรือฟรีแลนซ์ เป็นต้น
  • มาตรา 40 ประเภทที่ 3 เงินได้กู๊ดวิลล์ หรือค่าค่าลิขสิทธิ์หรือสิทธิต่างๆ ที่ได้รับในลักษณะเงินรายปี อย่างพินัยกรรมหรือคำพิพากษาจากศาล
  • มาตรา 40 ประเภทที่ 4 เงินได้ดอกเบี้ย (พันธบัตร, เงินฝาก และหุ้นกู้) เงินปันผล และส่วนแบ่งกำไรต่างๆ
  • มาตรา 40 ประเภทที่ 5 เงินได้จากการเช่าทรัพย์สินหรือเป็นค่าเช่า เช่น ค่าเช่าโกดัง หรือที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง
  • มาตรา 40 ประเภทที่ 6 เงินได้วิชาชีพอิสระ (ไม่รวมฟรีแลนซ์) ที่กฎหมายกำหนด เช่น การบัญชี, วิชากฎหมาย และ แพทย์เป็นต้น

หากมีการตรวจสอบแล้วพบว่า ธุรกิจของคุณตรงตามมาตรา 70 ในประเภทของเงินได้ และ 70 ทวิ ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ โดยหักภาษีจากจำนวนเงินตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัท หลังจากที่คุณทำการจ่ายเงินแล้ว จะต้องเตรียมยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 กับทางกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป หากยื่นออนไลน์ ต้องไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันสิ้นเดือน

ตัวอย่างวิธีการคำนวณ

ตัวอย่าง บริษัท นำเงินรวย จำกัด ที่จัดตั้งอยู่ภายในประเทศไทย ได้มีการติดต่อกับทาง บริษัท จิ๋วซือ จำกัด ที่อยู่ในประเทศจีน เพื่อต้องการเช่าโกดังจัดเก็บสินค้า โดยการเช่าโกดังมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 100,000 บาท

วิธีคิด

  • การเช่าโกดัง เป็นเงินได้ประเภทที่ 5 จึงต้องหัก 15 %
  • 100,000 x 15% = 15,000 บาท

คุณจะต้องหัก 15,000 บาท จาก 100,000 บาทที่ต้องจ่ายให้กับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ เท่ากับว่าทางบริษัท นำเงินรวย จำกัด จะได้รับเงินเป็นจำนวน 85,000 บาท ส่วน 15,000 บาทคุณจะต้องเป็นผู้หักและนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้กับกรมสรรพากรแทนบริษัท จิ๋วซือ จำกัด เพราะเขาไม่ได้อยู่ภายในประเทศไทย* ในทางการบัญชี ค่าความนิยม (Goodwill) เป็นส่วนต่างของมูลค่ากิจการตามบัญชี กับมูลค่าที่ซื้อขายกันจริง โดยส่วนมากบริษัทที่ดำเนินธุรกิจมาเป็นระยะเวลานาน และมีผลประกอบการที่ดี เมื่อขายกิจการก็ย่อมขายได้ในราคาที่สูงกว่ามูลค่าตามบัญชี เนื่องจากที่ภาพลักษณ์ที่ดีเป็น premium ของมูลค่าธุรกิจนั่นเอง

ช่องทางในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.54

  1. สํานักงานสรรพากร สามารถนำไปยื่นได้ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ตามสถานที่ตั้งและสำนักงานของกรมสรรพากร ที่เปิดให้บริการตามเวลาราชการ
  2. ธนาคารพาณิชย์ไทย กรณีที่คุณอยู่ภายในกรุงเทพฯ สามารถยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 ได้ ในระยะเวลาที่กำหนดแบบเดียวกันกับทางสํานักงานสรรพากร
  3. ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต จะให้เวลามากกว่าการยื่นที่สำนักงาน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ผ่านทางเว็บไซต์ของ E-FILING 

เมื่อคุณเป็นผู้ประกอบการที่มีการติดต่อหรือทำธุรกิจกับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ จะต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องของภาษี เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร เพราะมีการเสียภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่นเดียวกันกับแบบ ภ.ง.ด.54 ที่นอกจากจะเป็นการหัก ณ ที่จ่ายแทนผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศแล้ว จะต้องตรวจสอบให้ดีด้วยว่า เงินได้อยู่ในประเภทที่กำหนดเอาไว้หรือไม่ และต้องมีการใช้อัตราภาษีที่ถูกต้อง

แต่สำหรับใครที่เป็นผู้ประกอบการมือใหม่ และเรื่องของภาษีเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ยาก ไม่สามารถจัดการได้ด้วยตนเอง การเลือกใช้บริการจากสำนักงานบัญชี จึงเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่ตอบโจทย์กับธุรกิจของคุณ ไว้ใจเรื่องของภาษีเลือกใช้บริการกับ ชอบการบัญชี ได้เลยนะคะ

รู้จักกับ ภ.ง.ด.51 คืออะไร? ควรยื่นตอนไหน? ยื่นอย่างไรไม่ให้ถูกปรับ

รูปภาพแสดงให้เห็นมือของหญิงสาวกำลังใช้เครื่องคิดเลขสำหรับงานบัญชี

รู้หรือไม่ว่า นอกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีที่บริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องยื่นแล้ว ยังมีภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ที่ต้องยื่นด้วยนะ! บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ ภ.ง.ด. 51 อย่างละเอียด ไม่ว่าจะเป็นใครมีหน้าที่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 51 บ้าง? ยื่นเมื่อไหร่? และมีเทคนิคในการยื่นอย่างไรเพื่อไม่ให้ถูกค่าปรับ? ตามมาหาคำตอบพร้อมกันได้เลย

ภ.ง.ด.51 คืออะไร?

ภ.ง.ด.51 คือ แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (6 เดือน) ใช้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในการยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี โดยคำนวณจากกำไรสุทธิในช่วง 6 เดือนแรกของปีบัญชี และจะ+มีการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีอีกครั้งเมื่อสิ้นปีบัญชี โดยใช้แบบ ภ.ง.ด. 50

ความสำคัญของ ภ.ง.ด.51 

การยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 มีความสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูลทางการเงินของนิติบุคคลแก่กรมสรรพากร เพื่อให้สามารถตรวจสอบและประเมินภาษีที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้ การกรอกและยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 อย่างถูกต้องและครบถ้วนยังเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการตรวจสอบจากกรมสรรพากร และสร้างความเชื่อถือในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีให้แก่นิติบุคคลด้วย

ผู้ใดบ้างมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) ?

ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ได้แก่

  1. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ต้องจัดทำประมาณการกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ
  2. บริษัทจดทะเบียน ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ หรือบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เสียภาษีจากกำไรสุทธิ(ขาดทุนสุทธิ) จริงในครึ่งปีแรก

หมายเหตุ: บริษัทที่จดทะเบียนใหม่ในปีปัจจุบัน ได้รับยกเว้นไม่ต้องยื่น ภ.ง.ด. 51 เนื่องจากรอบระยะเวลาบัญชีน้อยกว่า 12 เดือน

ควรยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ตอนไหน?

กำหนดยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 ขึ้นอยู่กับรอบบัญชีของนิติบุคคล ดังนี้

  1. รอบบัญชีปกติ (เริ่ม 1 มกราคม สิ้นสุด 31 ธันวาคม)
    • ยื่นแบบฯ ผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร
      • ครึ่งปีแรก ภายใน 2 เดือน 8 วัน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี กำหนด: ภายในวันที่ 8 กันยายน ของปีถัดไป
      • ครึ่งปีหลัง ภายใน 2 เดือน 8 วัน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี กำหนด: ภายในวันที่ 8 มีนาคม ของปีถัดไป
    • ยื่นแบบฯ ด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่
      • ครึ่งปีแรก ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี กำหนด: ภายในวันที่ 31 สิงหาคม ของปีถัดไป
      • ครึ่งปีหลัง ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี กำหนด: ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ของปีถัดไป
  2. รอบบัญชีพิเศษ (เริ่มวันที่ 1 ของเดือนใดเดือนหนึ่ง สิ้นสุดวันที่ 30 หรือ 31 ของเดือนถัดไป)
    • ยื่นแบบฯ ผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร ภายใน 2 เดือน 8 วัน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
    • ยื่นแบบฯ ด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ภายใน 2 เดือน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

หมายเหตุ

  • กรณีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถขยายระยะเวลายื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพิ่มเติม 15 วัน
  • กรณีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์
    • ยื่นแบบฯ ผ่านระบบ e-Filing ของกรมสรรพากร ภายใน 2 เดือน 23 วัน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี
    • ยื่นแบบฯ ด้วยตนเองที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ภายใน 2 เดือน 15 วัน นับแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

คำนวณภาษี ภ.ง.ด. 51

การคำนวณภาษีเงินได้สำหรับยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 มี 2 วิธี ดังนี้

  1. กึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี ใช้กับบริษัททั่วไป เช่น กิจการซื้อมาขายไป กิจการผลิต กิจการบริการ
  2. กำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชี 6 เดือนแรก ใช้กับบริษัทดังต่อไปนี้
    • บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (ไม่ต้องแนบงบแสดงฐานะการเงิน และหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย)
    • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ต้องแนบงบแสดงฐานะการเงิน และหนังสือรับรองของผู้สอบบัญชี)

ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ล่าช้ากว่ากำหนดจะโดนโทษอย่างไรบ้าง?

กรณียื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 เกินกำหนดระยะเวลา จะต้องรับผิดดังนี้

  1. ค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในเวลาที่กำหนด
  2. กรณีมีภาษีต้องชำระ ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ ทั้งนี้หากเป็นกรณีที่ผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบโดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพิ่ม ให้เสียอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ แต่ไม่เกินเงินเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด

ข้อควรระวังในการยื่น ภ.ง.ด. 51 กรณีกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25

หากยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 โดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิ ขาดเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยไม่มีเหตุผลอันควร จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ของภาษีที่ชำระไว้ขาด หากบริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ โดยไม่ได้รับ คำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวน โดยตรงเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพิ่มได้ แต่ต้องเสียในอัตราและตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(ก) ถ้าชำระภายใน 2 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.10 ของเงินภาษี ที่ต้องชำระ

(ข) ถ้าชำระภายหลัง 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้น กำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียร้อยละ 0.50 ของเงินภาษีที่ต้องชำระ

วิธีการคำนวณประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25

ให้นำกำไรสุทธิจริง ลบด้วยประมาณการกำไรสุทธิได้เท่าไร นำผลลัพธ์คูณด้วย 100 หารด้วยกำไรสุทธิจริง มีดังนี้

ตัวอย่าง บริษัทประมาณการกำไรสุทธิไว้ 70,000 บาท ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้จำนวน 5,000 บาท

แต่กำไรสุทธิที่บริษัทยื่นรายการตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 และชำระภาษีเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี 100,000 บาท ประมาณการกำไรสุทธิของบริษัทขาดเกินกว่าร้อยละ 25 หรือไม่

วิธีการคำนวณ

กำไรสุทธิจริง 100,000 แต่ ประมาณการกำไรสุทธิ 70,000 = ประมาณการขาด 30,000

กำไรสุทธิ 100 ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป = 30,000*100/100,000= 30

ดังนั้น ถือว่าประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25

ถึงตรงนี้ หลายคนคงเข้าใจเรื่องภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) มากขึ้นแล้ว หลักสำคัญคือต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบริษัทของคุณเข้าข่ายต้องยื่นหรือไม่ และต้องยื่นภายในกำหนดเวลาที่กำหนด  

อย่าลืมว่า การคำนวณภาษีอย่างรอบคอบ รวมถึงการประมาณการกำไรสุทธิให้ใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด จะช่วยลดความเสี่ยงในการถูกเรียกตรวจสอบย้อนหลัง และทำให้บริษัทไม่ต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่มโดยใช่เหตุ 

สุดท้ายนี้ ขอแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมสรรพากรโดยตรง เพื่อความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้การยื่นภาษีของบริษัทเป็นไปอย่างราบรื่นและถูกต้องตามกฎหมาย

แหล่งข้อมูล : กรมสรรพากร

ภ.ง.ด.50 คืออะไร? สำคัญอย่างไร และทำไมต้องยื่นให้ถูกต้อง – คู่มือภาษีสำหรับธุรกิจ

ภาพมือของชายหนุ่มกำลังกดเครื่องคิดเลข และมีข้อความอยู่ด้านบนว่า ก.พ.ด. 50 คืออะไร? สิ่งที่ต้องทำ และทำไมต้องเช็คให้ถูกต้อง

การยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.50 เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกธุรกิจต้องให้ความใส่ใจ เนื่องจากเป็นแบบฟอร์ม ที่ใช้ในการรายงานภาษีเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล การทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ภ.ง.ด.50 ไม่เพียงแค่ช่วยให้ธุรกิจของคุณปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายภาษีได้อย่างถูกต้อง แต่ยังช่วยป้องกันปัญหาทางกฎหมายและค่าปรับที่อาจเกิดขึ้นได้ ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายว่า ภ.ง.ด.50 คืออะไร? สำคัญอย่างไร? และทำไมต้องทำการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.50 เพื่อให้ถูกต้องตามหน้าที่ จึงเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจไม่ควรมองข้าม

ภ.ง.ด.50 คืออะไร?

ภ.ง.ด.50 คืออะไร?

ภ.ง.ด.50 หรือ “แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล” เป็นแบบฟอร์มที่ใช้ในการยื่นภาษีของนิติบุคคลในประเทศไทยหรือบริษัทต่างชาติ โดยแบบฟอร์มนี้ใช้เพื่อรายงานรายได้และการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทต่อกรมสรรพากร ภายในเวลาที่กำหนด โดย ภ.ง.ด.50 จะต้องยื่นทุกปีหลังจากสิ้นสุดรอบบัญชีภายใน 150 วัน (ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี) โดยไม่ว่าบริษัทนั้นจะมีรายได้หรือไม่ก็ตาม

ภ.ง.ด.50 มีความสำคัญยังไง?

ภ.ง.ด.50 เป็นแบบฟอร์มที่มีความสำคัญอย่างมากในการดำเนินกิจการของธุรกิจหรือนิติบุคคล โดยเฉพาะในเรื่องของการประมวลผลภาษีเงินได้ มันเป็นเอกสารที่ใช้ในการรายงานรายได้และรายได้ที่ได้รับการหักภาษีของบริษัทหรือนิติบุคคลต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญดังนี้

1.เป็นข้อกำหนดของกฎหมายภาษี 

การยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีของประเทศ หากไม่ปฏิบัติตามอาจเสียค่าปรับหรือเผชิญกับความเสี่ยงทางกฎหมายอื่น ๆ ได้

2.การจัดการทางการเงิน
การรายงานรายได้และรายได้ที่ได้รับการหักภาษีจะช่วยให้ธุรกิจสามารถตรวจสอบสถานะการเงินของตนเองได้ และยังวางแผนทางการเงินในอนาคต

3.การป้องกันปัญหาทางกฎหมาย

การยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.50 ให้ถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงในการเผชิญกับค่าปรับหรือความผิดพลาดในการรายงานภาษี

4.เพิ่มความน่าเชื่อถือของกิจการต่อสถาบันการเงิน

การยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.50 ให้ถูกต้องและเรียบร้อยจะช่วยสร้างความเชื่อถือจากสถาบันการเงิน ซึ่งอาจมีผลต่อการเข้าถึงสินเชื่อหรือการทำธุรกรรมทางการเงินอื่น ๆ ในอนาคต

ใครบ้างมีหน้าที่ต้องยื่น ภ.ง.ด.50

ตามกฎหมายภาษีเงินได้นิติบุคคล พ.ศ. 2531 นิติบุคคลทุกประเภทต้องยื่น ภ.ง.ด.50 ต่อกรมสรรพากรภายใน 150 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชี โดยไม่คำนึงว่าจะมีกำไรหรือขาดทุนก็ตาม

ตัวอย่างนิติบุคคลที่ต้องยื่น ภ.ง.ด.50 ได้แก่

รายละเอียดเอกสารแนบสำหรับยื่น ภ.ง.ด.50 มีอะไรบ้าง?

เมื่อยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.50 จะต้องแนบเอกสารที่สำคัญเพื่อยืนยันข้อมูลที่ระบุในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับรายได้และค่าใช้จ่ายตามกฎหมาย โดยเอกสารที่จะต้องแนบพร้อมกับแบบ ภ.ง.ด.50 มีดังนี้ 

  1. ใบแนบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. บัญชีงบดุล
  3. บัญชีทำการ และบัญชีกำไรขาดทุน พร้อมทั้งรายละเอียดประกอบ
  4. งบกระแสเงินสด
  5. รายงานประจำปี กรณีเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการวิสาหกิจ เพื่อสังคมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
  6. รายงานของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี
  7. รายงานประจำปีสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตามมาตรา 71 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (Disclosure Form)
  8. อื่นๆ ที่นอกเหนือจาก 1. ถึง 7. (ระบุ) เช่น แบบแสดงรายละเอียดการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ (IBC) ตามที่แนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 13)

ดาวน์โหลดฟอร์ม ภ.ง.ด.50

ตัวอย่างเอกสารสำหรับแม่ค้าออนไลน์ ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50

  • แบบ ภ.ง.ด.51 ที่ยื่นไปแล้วในปีเดียวกัน
  • หนังสือรับรองภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย  
  • งบการเงิน (งบกำไรขาดทุน งบแสดงฐานะการเงิน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ และหมายเหตุประกอบงบการเงิน)
  • รายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

** หมายเหตุ เจ้าของธุรกิจจะต้องเก็บรักษาเอกสารไว้อย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี โดยเฉพาะเอกสารที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกิจต้องนำมาเก็บไว้เป็นหลักฐานเสมอ แม้จะมีการยื่นนำส่งภาษีไปแล้วก็ตาม**

หากไม่ยื่น ภ.ง.ด.50 ตามกำหนดจะโดนโทษทางกฎหมายอย่างไร ?

ในกรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ชำระภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องคำนวณ และชำระเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติมตาม
ทั้งนี้ ให้คำนวณ เงินเพิ่มเป็นรายเดือนนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบฯ จนถึง วันยื่นแบบฯ และชำระภาษี แต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม

หมายเหตุ : กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ยื่นแบบฯ ตามมาตรา 17 ประกอบมาตรา 68 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ยื่นบัญชี ตามมาตรา 69 แห่งประมวลรัษฎากร ภายในกำหนดเวลาดังกล่าว อาจต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 4,000 บาท (มาตรา35 แห่งประมวลรัษฎากร)

จากบทความข้างต้น จะเห็นได้ว่าการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.50 นั้นมีความสำคัญอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลที่สำคัญที่ผู้ประกอบการในประเทศไทยต้องยื่นต่อกรมสรรพากร การยื่น ภ.ง.ด.50 ให้ถูกต้องและครบถ้วนไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันการเสียค่าปรับและการตรวจสอบภาษีย้อนหลัง แต่ยังช่วยให้ธุรกิจมีการวางแผนการเงินที่มีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อถือให้กับผู้ลงทุนและคู่ค้าทางธุรกิจ

แหล่งข้อมูล : กรมสรรพากร